รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน พ.ศ. 2557
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด : เมืองสะอาด (CLEAN LAND)


การจัดการขยะ

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดมีพื้นที่ ๑๑.๖๓ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๔๕,๖๐๐ คน มีอัตราการเกิดขยะประมาณ ๖๐ ตันต่อวัน ซึ่งเทศบาลฯ มีวิธีการจัดการขยะ ดังนี้
 ๑. การจัดการต้นทาง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจัดให้มีรถเก็บขนขยะมูลฝอยที่ทันสมัยเพียงพอต่อปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในเมือง และใช้ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System; GIS) เฝ้าติดตามและควบคุมการจัดเก็บของรถเก็บขนขยะ ทำให้สามารถจัดเก็บขยะได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด  นอกจากนี้ เทศบาลฯ ได้ริ่เริมโครงการ “ถนนปลอดถังขยะ” โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการนำขยะมาทิ้งตามเวลาที่มีการเก็บขนขยะ

 

๒. การจัดการปลายทาง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้
๒.๑ การคัดแยกขยะขั้นต้น (Sorted) ก่อนเข้าสู่กระบวนการกำจัดขั้นต่อไป ซึ่งได้ผลผลิต ดังนี้                             
- เศษอาหาร ซึ่งเทศบาลฯ มีแผนจะนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก
- ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม โดยมีบริษัทเอกชน มารับซื้อจากเทศบาลฯ
- ขยะพลาสติก เศษผ้า และอื่นๆ จะเข้าสู่กระบวนการการคัดแยกขยะโดยเครื่องจักรต่อไป

๒.๒ การคัดแยกขยะโดยเครื่องจักร (Sorting by Machine) ขยะที่เหลือจากกระบวนการคัดแยกขยะขั้นต้น และขยะที่อยู่ในหลุมฝังกลบ จะถูกนำมาแยกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลังงานจากขยะ ซึ่งมีขั้นตอน ได้แก่
- การแยกด้วยตะแกรงหมุน (Rotary Trommel Screen) โดยขยะขนาดเล็กจะถูกร่อนออกมาจากตะแกรง และขยะขนาดใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังขั้นตอนต่อไป
- การแยกด้วยมือ (Hand Sorting) ใช้แรงงานคนในการขยะแยกวัสดุตกค้าง เช่น เศษโลหะ เศษไม้ เศษแก้ว และวัสดุอื่นๆที่ไม่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลังงานจากขยะ
- การสลัดพลาสติก (Spinner Machine) ใช้สลัดเศษพลาสติกออกจากขยะ ซึ่งจะได้เศษพลาสติกขนาดเล็ก ที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลังงานจากขยะ
- การบีบอัด (Compression Machine) โดยนำพลาสติกขนาดเล็กที่แยกได้ มาอัดเป็นก้อนเพื่อเตรียมส่งจำหน่ายให้กับบริษัทรับซื้อต่อไป

๓. การเสริมสร้างความตระหนัก เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีนโยบายนำเมืองสู่ “เมืองปลอดขยะ(Zero Waste)” ซึ่งได้ดำเนินการต่างๆ เช่น โครงการรณรงค์ตลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมการใช้ถุงผ้า  และการลดการใช้ภาชนะที่ทำมาจากโฟมและพลาสติก โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลตัวอย่างในโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร โดยได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดธนาคารขยะรีไซเคิล พ.ศ.๒๕๕๑

 


    การจัดการพื้นที่สีเขียว

    เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด มีพื้นที่สีเขียวทั้งสิ้น ๓.๔๙ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่เทศบาลฯ สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของเทศบาล ๕.๐๕ ตารางเมตรต่อคน พื้นที่สีเขียวที่สำคัญ ได้แก่
    สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ๒ สวน ได้แก่ บึงพลาญชัย และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ทำหน้าที่เป็นปอดของเมืองให้กับประชาชน เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพันธุ์ไม้โบราณที่มีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรม
    - พื้นที่สีเขียวที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเป็นพืชอาหาร และพืชที่นำมาใช้เพื่อเพิ่ม เศรษฐกิจชุมชน
    - พื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนป่าในศาสนสถาน พื้นที่สีเขียวในสถานที่ราชการ สถานศึกษา
    - พื้นที่สีเขียวและไม้ใหญ่ที่ชุมชนอนุรักษ์ไว้ 
    ๒. เทศบาลฯ ได้ทำการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณพื้นที่คูเมืองซึ่งเป็นเขตโบราณสถาน โดยการย้ายชุมชนแออัดที่มีการบุกรุก ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน




      

    โครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน
    สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    60/1 ซอยพิบูลย์วัฒนา 7 ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
    โทรศัพท์ (02)265-6574 สงวนลิขสิทธิ์ 2556
    Free Web Hosting