รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน พ.ศ. 2557
เทศบาลนครนครสวรรค์ : เมืองแห่งน้ำสะอาด (CLEAN WATER)


การประปา
๑. เทศบาลนครนครสวรรค์ มีพื้นที่ ๒๗.๘๗ ตารางกิโลเมตร มีประชากร ๘๖,๗๐๓ คน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศไทยที่เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ ๔ สาย ได้แก่ ปิง วัง ยม และน่าน ทำให้นครสวรรค์มีแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาใช้ตลอดปี

๒. การผลิตน้ำประปาใช้ในเมือง ดำเนินการโดย “การประปาเทศบาลนครนครสวรรค์” มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๙ โดยมีกำลังการผลิตในปัจจุบัน ๗๐,๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาลฯ และอีก ๒,๐๐๐ ครัวเรือนนอกเขตเทศบาลฯ

๔. ระบบน้ำประปาของเทศบาลมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นระยะ ได้แก่ การตรวจวัดในโรงบำบัดน้ำ การสุ่มตรวจในระบบท่อ และการตรวจที่ก๊อกจ่ายน้ำ โดยคุณภาพน้ำได้มาตรฐานคุณภาพน้ำใช้ มอก.๒๔๗-๒๕๔๙ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก

๕. เทศบาลได้จัดทำจุดให้บริการ “น้ำประปา ประชาดื่มได้” ครอบคลุมเขตเทศบาล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคน้ำสะอาดราคาประหยัด และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปาของเทศบาล

การจัดการน้ำเสีย
๑. เทศบาลนครนครสวรรค์ ดำเนินการวางโครงข่ายท่อรวบรวมน้ำเสียครอบคลุมเขตเทศบาลฯ ทำให้ทุกอาคาร สถานประกอบการ ต้องเชื่อมต่อท่อระบายน้ำเสียของตนเข้ากับระบบรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลฯ
๒. เทศบาลนครนครสวรรค์ มีการออกเทศบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งบ่อดักไขมันบำบัดน้ำเสียในอาคาร ซึ่งมีผลให้ทุกครัวเรือนบ่อดักไขมันในท่อระบายน้ำครัวเรือนก่อนปล่อยออกสู่ระบบรวบรวมน้ำเสียของเทศบาล และค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียให้กับผู้ครองครองแหล่งกำเนิดที่บำบัดน้ำเสียจนได้น้ำทิ้งตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

๓. ระบบบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครนครสวรรค์ดำเนินการ “โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อบำบัดน้ำเสียของเมืองทั้งหมด โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
๓.๑ ตะแกรงดักขยะ (Coarse Screen) ทำหน้าที่ดักขยะขนาดใหญ่ที่แฝงมากับน้ำเสีย
๓.๒ ระบบดักกรวด ทราย (Grid Removal) ทำหน้าที่ดักกรวด ทราย ที่แฝงเข้ามากับน้ำเสียก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดขั้นถัดไป
๓.๓ ระบบ Modified Sequencing Batch Reactor; MSBR เป็นระบบบำบัดน้ำทางชีวภาพ โดยอาศัยปฏิกิริยาของจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ (Aerobic Microbe) ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ ทำให้ปริมาณความสกปรกของน้ำลดลง โดยเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นเทศบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบ MSBR มาใช้ในการบำบัดน้ำเสียของเมือง
๓.๔ ระบบตกตะกอน (Sedimentation) ทำหน้าที่เป็นถังรับน้ำเสียจากระบบ MSBR เพื่อผสมกับสารฆ่าเชื้อโรค (Disinfectant) เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำทิ้งที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นน้ำทิ้งที่มีความสะอาด ได้มาตรฐานน้ำทิ้งตามกฎหมายกำหนด ขั้นตอนนี้ยังก่อให้เกิดตะกอนจุลินทรีย์ (Sludge) จากการบำบัดอีกด้วย
๓.๕ ระบบบำบัดตะกอน ขั้นตอนนี้จะนำตะกอนจุลินทรย์ที่ได้จากการตกตะกอนเข้าสู่ระบบลดความชื้นตะกอน เพื่อให้ได้ตะกอนจุลินทรีย์แห้ง (Sludge Cake)

๔. ตะกอนจุลินทรย์แห้งที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต ๙ (นครสวรรค์) ถึงการไม่มีสารตกค้าง และมีธาตุอาหารพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สูงมาก สามารถนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดินและเป็นปุ๋ยให้กับพืชได้เป็นอย่างดี
๕. โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน การดำเนินการของระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลฯ

๖. เทศบาลนครนครสวรรค์มีการส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำโดยการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การปั่นจักรยานริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์น้ำแก่ประชาชน การสร้างหลักสูตรอนุรักษ์น้ำในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลฯ




  

โครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน
สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
60/1 ซอยพิบูลย์วัฒนา 7 ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ (02)265-6574 สงวนลิขสิทธิ์ 2556
Free Web Hosting