รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน พ.ศ. 2557
เทศบาลนครเชียงราย : เมืองสะอาด (CLEAN LAND)


การจัดการขยะ

เทศบาลนครเชียงรายมีพื้นที่ ๖๐.๘๕ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๗๐,๒๐๑ คน มีอัตราการเกิดขยะ ๑๑๒ ตันต่อวัน หรือ ๑.๖ กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเทศบาลฯ มีวิธีการจัดการขยะ ดังนี้
๑. การจัดการต้นทาง เทศบาลนครเชียงรายได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในการรณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด โดยใช้หลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการผลิตปุ๋ยชุมชนใช้เอง โครงการขยะรีไซเลิคแลกไข่ โครงการธนาคารขยะ โครงการผลิตกระดาษสาจากกระดาษใช้แล้ว โครงการแยกขยะอันตราย โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเรื่องขยะเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุบริเวณถนนคนเดิน  

๒. การจัดการระหว่างทาง เทศบาลนครเชียงราย มีการดำเนินการเพื่อให้การจัดเก็บขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนี้
- จัดเก็บขยะในเขตเทศบาลร่วมกับภาคเอกชน โดยใช้รถเก็บขนขยะที่ทันสมัย มีการใช้ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System; GIS) เฝ้าติดตามและควบคุมการจัดเก็บของรถเก็บขนขยะ
- สร้างการมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนในการเฝ้าระวังและตรวจตราจุดทิ้งขยะในชุมชน หากมีมูลฝอยตกค้างสามารประสานกับเทศบาลฯเพื่อให้ดำเนินการจัดเก็บต่อไป ทำให้ขยะไม่ตกค้าง
- ส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการรับซื้อขยะรีไซเคิลในพื้นที่ ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่การกำจัดขยะปลายทางได้ในระดับหนึ่ง

๓. การจัดการปลายทาง เทศบาลนครเชียงราย มีการดำเนินการจัดการขยะที่ผ่านการเก็บขน จำนวน ๘๐-๘๕ ตันต่อวัน ดังนี้
- ขยะมูลฝอยจะถูกฝังกลบในหลุมฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) จำนวน ๕ หลุม บนพื้นที่ ๓๒๓ ไร่ ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ - เทศบาลฯ ได้ดำเนินการฝังกลบรายวันอย่างต่อเนื่องโดยการบดอัดปิดทับด้วยดิน ภายในหลุมที่มีลักษณะเป็นคันดินยกสูงจากพื้น ๒.๒๐ เมตร พื้นปูด้วยแผ่นยางกันซึม (High Density Polyethylene; HDPE) เพื่อป้องกันน้ำเสียซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน มีท่อรวบรวมน้ำชะขยะวางเป็นแนวที่พื้นหลุมเพื่อรวบรวมน้ำชะขยะไปบำบัดต่อไป
- การบำบัดและเฝ้าติดตามคุณภาพน้ำ เทศบาลนครเชียงรายดำเนินการสูบน้ำชะขยะจากหลุมฝังกลบ เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำชะขยะแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศ จำนวน ๓ บ่อ ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำภายนอก นอกจากนี้รอบพื้นที่หลุมฝังกลบมีการติดตั้งบ่อเฝ้าติดตามคุณภาพน้ำ (Monitoring Well) จำนวน ๗ บ่อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของน้ำชะขยะลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน
- เทศบาลนครเชียงราย ดำเนินการปลูกต้นไม้รอบหลุมฝังกลบขยะ เพื่อเป็นแนวกันชนในการระหว่างหลุมฝังกลบกับพื้นที่โดยรอบเพื่อป้องกันฝุ่นและเสริมสร้างทัศนียภาพ


การจัดการพื้นที่สีเขียว ๑. เทศบาลนครเชียงราย มีพื้นที่สีเขียวทั้งสิ้น ๔๑.๔๖ ตารางกิโลเมตร โดยมีสวนสาธารณะในเขตเทศบาลฯ จำนวน ๑๗ แห่ง ซึ่งมีพื้นที่รวมกัน ๓๙๓,๐๐๐ ตารางเมตร หรือ ๕.๕๙ ตารางเมตรต่อคน ๒. เทศบาลนครเชียงรายส่งเสริมการดำเนินงานด้านพื้นที่สีเขียวโดยการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ - การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนพันธุ์ไม้ใหญ่ในเขตเทศบาลฯ - การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพใน ๔ ระบบนิเวศ ได้แก่ ระบบนิเวศในเมือง ระบบนิเวศเกษตรกรรม ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศป่าเบญจพรรณ ๓. เทศบาลนครเชียงรายได้รับรางวัลในระดับนานาชาติในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม อาทิ Zuangzhou International Awards for Urban Innovation 2012, ใบประกาศเกียรติคุณจากองค์การสหประชาชาติ (UN-Habitat) ในฐานะเป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างที่ดี (Good Practice) ในการจัดการแบบองค์รวมด้านการควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพ และ รางวัล ๑ ใน ๑,๐๐๐ เมืองระดับโลกในการรณรงค์พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมืองจากองค์การอนามัยโลก



  

โครงการรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน
สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
60/1 ซอยพิบูลย์วัฒนา 7 ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ (02)265-6574 สงวนลิขสิทธิ์ 2556
Free Web Hosting